ช่วงนี้ไม่ว่าคุณจะเป็น Blogger ในหัวเรื่องไหน ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเขียนถึง COVID-19
(ภาพประกอบไม่ค่อยตรงกับเนื้อหาครับ แค่ผมอยากใช้)
ในฐานะที่ผมทำมาหากินด้วยการบริหารความเสี่ยง ก็ต้องขอเกาะกระแสกับเขาสักหน่อย เลยอยากจะมาเล่าให้ฟังว่าวิธีที่เราใช้บริหารความเสี่ยง (ส่วนบุคคล) ในเรื่องนี้มันไปตรงกับหลักในการบริหารความเสี่ยงข้อไหนบ้าง
แต่ก่อนอื่น ผมต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทยด้วยนะครับ ไม่ว่าจะสาเหตุมาจากไข้เลือดออก หรือจาก COVID-19 ก็หวังว่าจะไม่มีเคสถัด ๆ ไปอีก
ขอเริ่มต้นด้วยการแนะนำกลยุทธ์ในการจัดการกับความเสี่ยงประเภทที่เรียกกันว่า Hazard risk หรือ ความเสี่ยงที่เป็นอันตราย เช่น อุบัติเหตุ สารพิษ การทุจริต หรือโรคร้าย กันก่อน ว่าโดยทั่วไปมีกันอยู่ 4 แนวทาง ที่เรียกย่อ ๆ ว่า 4Ts ตามภาพด้านล่างนี้
4Ts of Risk Management Strategy
- Treat หมายถึง การบำบัดหรือการควบคุม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความเสี่ยงนั้น มีโอกาสจะกลายเป็นจริงน้อยลง หรือหากเป็นจริงก็สร้างผลกระทบได้น้อยลง
- Terminate หมายถึง การกำจัด หรือถ้าจะให้ตรงที่สุดคือหลีกเลี่ยง ไม่ให้ตนเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับความเสี่ยง มักจะใช้กับความเสี่ยงที่โอกาส (Likelihood) ที่จะเกิดขึ้นมีสูง และ ผลกระทบ (Impact) สูง
- Transfer หมายถึง การโอนย้าย หรือ ถ่ายทอดความเสี่ยงไปยังผู้อื่น เพื่อให้เราได้รับผลกระทบน้อยลงหากความเสี่ยงนั้น ๆ เกิดเป็นจริง มักใช้กับกรณีที่ Likelihood ต่ำ แต่ Impact สูง
- Tolerate หมายถึง การยอมรับความเสี่ยง และ “อดทน” อยู่ตรงจุดนั้นต่อไป ส่วนใหญ่ก็เพราะ Likelihood ที่ความเสี่ยงนั้นจะเกิดขึ้นจริงมีต่ำ และ Impact เมื่อเกิดขึ้นก็มีน้อยทำให้การทำตามแนวทาง 3 ข้อแรก อาจจะไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ลดลง
ต่อมา ถ้าเราจะลองทบทวนวิธีบริหารความเสี่ยงเท่าที่ได้เห็นมาตลอดเดือนเศษ ๆ ที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง ผมก็อยากจะให้ลองแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ครับ
กลุ่มที่ 1
การใส่หน้ากากอนามัย
การกินอาหารปรุงสุก การใช้ช้อนกลาง และล้างมืออยู่เสมอ ไม่ว่าจะด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือล้างสบู่ก็ตาม
และ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
กลุ่มนี้จะตรงกับ T ตัวแรก คือ Treat เพราะทั้งหมดเป็นวิธีลดโอกาสการติดเชื้อ และลดผลกระทบหากโชคไม่ดีไปรับเชื้อเข้ามา
กลุ่มที่ 2
การยกเลิกแผนท่องเที่ยวในประเทศกลุ่มเสี่ยง
การไปไปในแหล่งชุมนุมชน หรือการทำงานจากที่บ้าน
แนวทางนี้คือการ Terminate หรือการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง เพราะถ้าเราอยู่แต่ที่บ้าน ไม่ออกไปพบปะผู้คน โอกาสที่จะได้รับเชื้อก็แทบจะเป็นศูนย์
กลุ่มที่ 3
การซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพ ประกันการเจ็บป่วย ทั้งนี้ รวมถึงการใช้สิทธิประกันสังคม และการสมัครเข้าประกันกลุ่มที่บริษัทต่าง ๆ ออกมาแจกให้ลูกค้าฟรีด้วย
วิธีนี้ถือว่าเป็นการ Transfer หรือถ่ายโอนความเสี่ยงไปที่อื่น ซึ่งอันที่จริงการซื้อประกันก็เป็นวิธีที่เราคุ้นเคยกันมานานแล้วหล่ะครับ
เพียงแต่เราต้องอย่าลืมไปว่า เราไม่ได้โอน “โอกาส” ที่จะติดเชื้อไปที่ผู้รับประกัน แต่เราเพียงแค่โอน “ผลกระทบ” ทางการเงินไปทางนั้นแทน
นั่นคือ ถ้าซื้อแล้วสบายใจ แต่ไม่ทำตามข้อ 1 กับ 3 ก็รับรองว่าได้เรียกร้องสินไหมทดแทนแน่ ๆ ครับ
กลุ่มที่ 4
การท่องคาถาของครูบาบุญชุ่มตามภาพ
ส่วนตัวผมไม่คิดว่าคาถานี้จะมาจากครูบาฯ หรอกนะ แต่พอเห็นชื่อครูบาฯ และบอกว่าเป็นต้นตำรับ คาถานี้ก็ดูน่าเชื่อถือขึ้นมาทันที
แนวทางนี้ คงจะเดากันได้ไม่ยาก ว่าเป็นการ Tolerate หรือ ยอมรับ และอดทนอยู่กับมัน โดยมีคาถาอันศักดิสิทธิ์ช่วยให้เรามีขวัญและกำลังใจอยู่ในวัฏสงสารนี้ต่อไป
ตัวอย่างในกลุ่มที่ 1 – 3 นั้น เป็นไปตามแนวทางที่เราน่าจะเข้าใจเหตุผลกันดีอยู่แล้ว ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ก็ขอให้ใช้แต่ละวิธีอย่างสมดุลย์กันก็พอ
สำหรับตัวอย่างสุดท้าย แม้ผมจะไม่ขัดข้องหากมีใครนำไปใช้ แต่ผมหวังว่าจะไม่มีคนเลือกทำแต่แนวทางนี้อย่างเดียวนะครับ
ไม่อย่างนั้น เราคงไม่ต่างจากเคสเกาหลีใต้ที่อาจุมม่าคนนึง พร้อมกับเพื่อนร่วมลัทธิของเธอ “อินดี้” ซะจนเค้าวายป่วงกันไปทั้งประเทศอยู่ในตอนนี้
(ภาพจาก ฐานเศรษฐกิจ)
ขอบคุณมากครับ
Website: www.antifraud.in.th
Blockdit: www.blockdit.com/antifraud.in.th